แอร์การ์ด

แอร์การ์ด
ท่องโลกอินเตอร์เน็ทง่ายกว่าที่คุณคิด

วันอังคารที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

เลิกสูบ...ก็มีสุข 31 พฤษภาคม 2559 วันงดสูบบุหรี่โลก

วันงดสูบบุหรี่โลก

วันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เป็น “วันงดสูบบุหรี่โลก” สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สสส.ร่วมกับเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ เทศบาลตำบลเฝ้าไร่ อำเภอเฝ้าไร่ จังหวัดหนองคาย จัดกิจกรรมรณรงค์ “เลิกสูบ ก็เจอสุข”...“Quit Smoking : Greater Happiness”

นับหนึ่งจากกิจกรรม “อบรมพัฒนาศักยภาพผู้นำการเปลี่ยนแปลงนำพาเลิกบุหรี่” โดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้งก็คือ “เทศบาลตำบลเฝ้าไร่ อำเภอเฝ้าไร่” กำหนดเป้าหมายให้ทุกหมู่บ้านกำหนดพื้นที่ปลอดบุหรี่...ทำให้เป็นพื้นที่เพื่อสุขภาพ และจัดทำเป็นกติกาสุขภาพหมู่บ้านผ่านประชาคมทุกหมู่บ้าน

ข้อความร่วมมือที่เป็นพันธสัญญาทางหัวใจ ให้ฟันเฟืองสำคัญ...กำนัน สารวัตรกำนัน แพทย์ประจำตำบล ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ประธานอาสาสมัครสาธารณสุข สำรวจข้อมูลปัจจุบันบุคคลที่เลิกสูบบุหรี่ถาวร นักสูบหน้าใหม่ นักสูบหน้าเดิม พร้อมๆกับค้นหาแนวทาง นวัตกรรมชุมชนท้องถิ่นในการเลิกสูบบุหรี่

กลไกดำเนินการหลักๆให้ทุกหมู่บ้านเห็นด้วยในการให้ความร่วมมือและคณะทำงานโครงการจะออกไปทำการวางแผนการสำรวจข้อมูลแต่ละหมู่บ้าน ข้อมูลการบริโภคยาสูบ ค้นหาทุน...ศักยภาพในทุกหมู่บ้าน เตรียมพื้นที่จัดกิจกรรมอบรม อาทิ เยาวชนเฝ้าไร่ปอดสะอาด

จัดตั้งแกนนำเยาวชนหมู่บ้านละ 10 คน รวม 170 คน เป็นเยาวชนต้นแบบ...เพื่อนช่วยเพื่อนห่างไกลควันบุหรี่ เพื่อให้เด็ก เยาวชน ประชาชนในพื้นที่นั้นๆได้รับรู้...ตระหนักถึงโทษ พิษภัย ผลกระทบจากการสูบบุหรี่ เพื่อลดจำนวนนักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มเด็ก...เยาวชน

ความคาดหวังที่ตั้งไว้ก็คือจะเกิดเครือข่ายเยาวชนต้นแบบเฝ้าไร่ปอดสะอาดในแต่ละชุมชนๆเป็นพลังขับที่จะขยายผลกิจกรรมสร้างสรรค์ ปลูกฝังค่านิยมที่ดีต่อเยาวชนผ่านกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังมีการกำหนดกติกามาตรการทางสังคมแต่ละหมู่บ้าน เพื่อลดผลกระทบจากควันบุหรี่ในสถานที่และงานประเพณีต่างๆ...กำหนดสถานที่ห้ามสูบบุหรี่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 และพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 ให้ประชาชนได้ปฏิบัติอย่างถูกต้อง

เวทีประชาคมแต่ละกลุ่มหมู่บ้านที่จัดทำธรรมนูญหมู่บ้านควบคุมยาสูบ เริ่มกันมาตั้งแต่ วันที่ 15 กันยายน 2557 กลุ่มที่ 3...บ้านหนองยาง บ้านเกษตรเจริญ และบ้านเจริญศรี, วันที่ 16 กันยายน 2557 กลุ่มที่ 1...บ้านเฝ้าไร่ บ้านมีชัย บ้านภูเงิน บ้านเมืองทอง และบ้านเฝ้าไร่พัฒนา

วันที่ 17 กันยายน 2557 กลุ่มที่ 2...บ้านจับไม้ บ้านท่าหาย และวันที่ 19 กันยายน 2557 กลุ่มที่ 4...บ้านนาฮำ บ้านนาฮำใหม่ บ้านวังชมภู บ้านทรัพย์เจริญ บ้านพรมงคล และบ้านนาฮำพัฒนา

หัวใจ “ธรรมนูญการควบคุมยาสูบ” ทั้ง 17 หมู่บ้าน ได้แก่ สร้างจิตสำนึกไม่สูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบ ที่สาธารณะ เช่น วัด โรงเรียน ศาลาหมู่บ้าน และอื่นๆ...ไม่ขายบุหรี่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี

ตั้งกฎระเบียบขึ้นภายในหมู่บ้าน เช่น ในงานบุญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น งานบวช งานบุญกฐิน งานศพ งานบุญอุทิศส่วนกุศล งานบุญออกพรรษาให้ปลอดบุหรี่

สร้างบุคคลต้นแบบครอบครัวต้นแบบปลอดบุหรี่...ผู้ใหญ่ทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดี...จัดตั้งชมรมคนเลิกสูบเทศบาลตำบลเฝ้าไร่...ติดป้ายห้ามสูบในที่สาธารณะ

ความน่าสนใจก็คือผลการดำเนินงาน...การควบคุมการบริโภคยาสูบโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง พบว่า “นักสูบหน้าเดิม”...เข้าสู่กระบวนการลด ละ เลิก ร้อยละ 5 จากจำนวน 1,059 คน โดยดำเนินกิจกรรมอบรมให้ความรู้แก่ผู้นำ อสม. กิจกรรมการจัดทำกติกาชุมชน กำหนดพื้นที่ห้ามสูบ ประชาสัมพันธ์พิษภัยยาสูบและสุขภาพดีที่เลิกสูบ และให้คนที่สูบอยู่แล้วหันมาเลิกสูบ โดยจิตอาสาทำความดีเพื่อตัวเอง

ถัดมา... “นักสูบหน้าใหม่” ลดลงร้อยละ 5 และ “กลุ่มเสี่ยง” ร้อยละ 65 จากเยาวชนในพื้นที่ 2,734 คน มีความรู้และสามารถปกป้องตัวเองจากพิษภัยของบุหรี่จากการผ่านการอบรมเยาวชนเฝ้าไร่ปอดสะอาด การทำกติกาชุมชน...รณรงค์ในโรงเรียน

สำหรับผู้ได้รับผลกระทบ ร้อยละ 80 จากจำนวน 290 คน มีความรู้และสามารถปกป้องตัวเองจากพิษภัยของบุหรี่ จากการจัดกิจกรรมอบรมอาสาสมัครสาธารณสุข ผู้นำ ให้ความรู้ผ่านเวทีประชาคม

ภาพสะท้อนที่ทำให้ยิ้มได้ ร้อยละ 100 ของพื้นที่สาธารณะ...สถานที่ราชการต่างๆ ร้านอาหาร ตลาด วัด โรงเรียน ศาลากลางบ้านทุกหมู่บ้าน ในตำบลเฝ้าไร่ร่วมกันติดสติกเกอร์ “เขตปลอดบุหรี่” และเป็นพื้นที่ปลอดภัยจาก...“ควันบุหรี่” เหมือนไฟต์บังคับให้ปฏิบัติตามกติกาหมู่บ้านอย่างเคร่งครัด

ถึงตรงนี้ต้องบอกว่าเกิดนวัตกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบในพื้นที่ 2 เรื่องสำคัญ...เรื่องแรก “เครือข่ายเยาวชนต้นแบบเฝ้าไร่ปอดสะอาด” ชวนเพื่อนไม่ยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่...ยาเสพติด ปลูกฝังค่านิยมที่ดี

เรื่องที่สอง... “กติกาหมู่บ้านควบคุมยาสูบ” ผ่านกลไกการทำประชาคม เพื่อควบคุมปัญหาการบริโภคยาสูบในชุมชน ให้เกิดความตระหนัก ผู้ที่ชอบบริโภคยาสูบมีพื้นที่จำกัด...เป็นการเคารพต่อสิทธิของผู้อื่น

ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน บอกว่า จุดเริ่มการรณรงค์ลดละเลิกบุหรี่ภายใต้แคมเปญ “เลิกสูบ ก็เจอสุข” ของเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ หนึ่ง...ชุมชนท้องถิ่นมีแนวคิดตรงกันเรื่องบุหรี่เป็นเรื่องที่ไม่ต้องทบทวนว่าจะทำหรือไม่ทำ เพราะบุหรี่เป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ จึงเป็นที่มาของเครือข่ายฯรณรงค์ลดละเลิกบุหรี่ทั้งปี

สอง...พบว่าการรณรงค์ในชุมชน โดยโฆษณาประชาสัมพันธ์ไม่ได้ผล แต่การบอกปากต่อปากจะได้ผล มีอิทธิพลมากในชุมชน โดยเฉพาะมาจากผู้บริหารท้องถิ่นสาม...ถ้าการรณรงค์ลดละเลิกบุหรี่ ได้ผู้นำเป็นผู้บริหารท้องถิ่น การบังคับใช้กฎหมายจะมีผลในทางปฏิบัติเช่น การห้ามสูบบุหรี่ในสำนักงาน

สี่...ถ้าผู้บริหารท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมด้วย จะทำให้งานนั้นประสบผลทวีคูณ เพราะผู้บริหารเป็นนักสื่อสารในชุมชนอยู่แล้วซึ่งจะทำให้กระบวนการที่บอกปากต่อปากเกิดผลเร็วขึ้น

ดังนั้น การทำงาน “รณรงค์ลดละเลิกบุหรี่” โดยยึดเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง สนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองจึงเกิดขึ้นผ่าน 7 ชุดกิจกรรม คือ รณรงค์ทุกระดับ...จัดสภาพแวดล้อมปลอดบุหรี่... สร้างกติกาหรือมาตรการทางสังคม...สร้างมาตรการขององค์กร กลุ่มทางสังคมและหน่วยงาน...การบังคับใช้กฎหมาย...เสริมทักษะในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน...บำบัดและฟื้นฟู

เรายังจะทำคู่มือการทำงาน สร้างแกนนำตำบลในการเลิกบุหรี่ โดยใช้ 5 กลุ่ม...ผู้บริหารท้องถิ่น...กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน...ผู้มีอิทธิพลทางความคิด...ผู้นำทางศาสนา...ผู้นำเด็กเยาวชน และริเริ่มตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ ซึ่งจะใช้เป็นกลไกรณรงค์ลดละเลิกบุหรี่ เหล้า โดยหลังจากครบ 1 ปี จะทำการสำรวจข้อมูลจาก 300 ตำบล ว่ามี “ผู้เลิกบุหรี่”...ไปกี่คน หากสามารถทำให้ผู้นำชุมชนเลิกบุหรี่ได้ ก็จะเป็นอีกแรงสำคัญในการเป็นนักรณรงค์

นอกจากนี้ยังมีการสรุปบทเรียนการ “ลดการบริโภคยาสูบ” ด้วยศักยภาพของชุมชนเอง และการใช้มาตรการทางกฎหมาย...ย้ำทิ้งท้ายสั้นๆว่า “ร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่”...ต้องระเบิดจากภายใน ใครจะบังคับใครไม่ได้... “หัวใจ” ทุกดวงในแต่ละชุมชนแต่ละพื้นที่ต้องเป็นหนึ่งเดียวจึงจะสำเร็จได้


อ่านเพิ่มเติมได้ที่
http://www.thairath.co.th/content/628163

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น